246
ปัจจัยเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด
ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นได้ทั้งจากมารดาและบุตรในครรภ์ ประกอบไปด้วย
-
มารดา
- อายุของมารดา มารดาอายุน้อยเกินไป คือน้อยกว่า 18 ปี หรือมารดาที่อายุมากเกินไป คือมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด
- โรคประจำตัวของมารดาขณะตั้งครรภ์ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้ครรภ์ต่อมามีการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น
- มดลูกขยายตัวมากเกินไป เช่น ครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ เป็นต้น
- มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ปากมดลูกสั้น เป็นต้น
- ติดเชื้อในร่างกาย เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ท้องจะโตไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะได้ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้มีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
- การอักเสบในช่องคลอด
- ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์
- ฟันผุและการอักเสบของเหงือก
- บุตรในครรภ์ หากบุตรในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้อ จะทำให้มารดามีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้
สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด
- ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว เป็นต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ แม้จะเปลี่ยนท่าทาง
- เจ็บท้องต่อเนื่องกัน 4 ครั้งใน 20 นาที หรืออาจเกิดเป็นระยะ ๆ เนื่องจากการหดตัวของมดลูก
- มีมูกหรือเลือดออกทางช่องคลอด
- รู้สึกลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
- บวมและความดันโลหิตสูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของครรภ์เป็นพิษ
ตรวจเช็กคลอดก่อนกำหนด
- ตรวจภายใน โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ความกว้าง ระยะห่าง ขนาดตัว และตำแหน่งทารกในครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
- ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อวัดความยาวและดูรูปร่างของปากมดลูกในการประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงและโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- เจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของทารกและภาวะติดเชื้อต่าง ๆ
อันตรายเมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด
หากทารกคลอดก่อนกำหนดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติและส่งผลต่อระบบร่างกาย ดังนี้
- ปอด พบปัญหาเรื่องการขาดสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกจะมีอาการหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- หัวใจ อาจมีปัญหาจากการที่เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงร่างกายกับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอดยังเปิดอยู่ (PDA) ทำให้มีเลือดผ่านไปสู่ปอดมากเป็นผลทำให้ทารกหายใจหอบและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- สมอง ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะแตกง่าย
- ลำไส้ มีความเปราะบางมากกว่าปกติ การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนัก ทำให้ต้องให้นมทีละน้อย ๆ และอาจต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย
- ดวงตา จอประสาทตายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หลังเกิดอาจมีการพัฒนาของเส้นเลือดจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกได้
- หู มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีความบกพร่องของการได้ยินโดยเฉพาะทารกที่มีปัญหาหลาย ๆ อย่าง
- การติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ในระยะยาวอาจจะมีผลต่อความบกพร่องทางสติปัญญา พฤติกรรม พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ดังนั้นการได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดที่พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาลที่มีหน่วยทารกแรกเกิดวิกฤติ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเพื่อกลับไปใช้ชีวิตและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
ในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด สิ่งสำคัญคือ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดจะให้การดูแล ดังนี้
- พูดคุยรายละเอียดพร้อมให้คำแนะนำพ่อแม่อย่างใกล้ชิด
- ดูการหายใจของทารกและติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากทารกบางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกให้อบอุ่นเหมาะสม
- ตรวจเลือดเท่าที่จำเป็น
- ดูแลการทานนมของทารกให้ปริมาณเพียงพอกับความต้องการที่ควรได้รับ สนับสนุนเรื่องนมแม่
- ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กรัมจึงสามารถกลับบ้านได้
- เตรียมความพร้อมให้กับคุณแม่ก่อนกลับไปที่บ้าน
อย่างไรก็ตามการวางแผนก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคือสิ่งสำคัญ เพราะหากคุณแม่ต้องเผชิญกับภาวะคลอดก่อนกำหนด เจ้าตัวน้อยจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ที่สำคัญการใส่ใจดูแลครรภ์ ระมัดระวังในการรับประทานอาหาร และการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้